เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์

คำทักทายจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ

 พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่แรกในประเทศญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นนิทรรศการและการสำรวจค้นคว้าวัฒนธรรมไอนุ เป็นต้น โดยก่อตั้งขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูบูรณะและเผยแพร่วัฒนธรรมของชนเผ่าไอนุ

  อุโปะโปย (พิพิธภัณฑ์และสวนไอนุแห่งชาติ) อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นโครงการระดับชาติที่มีแนวคิดสำคัญอย่างการให้เกียรติชนพื้นเมืองและสร้าง “สังคมที่มีชีวิตชีวาด้วยความหลากหลาย, ความมั่งคั่งของวัฒนธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติ” ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูบูรณะและเผยแพร่วัฒนธรรมไอนุซึ่งเป็น “วัฒนธรรมอันมีค่าของประเทศญี่ปุ่น” ตามที่ถูกเขียนไว้ในแนวคิดพื้นฐานนั้นด้วยเช่นกัน พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติถือเป็นจุดศูนย์กลางของอุโปะโปยดังกล่าว เราจึงได้ดำเนินการจัดนิทรรศการวัฒนธรรมของไอนุ สำรวจค้นคว้า เผยแพร่การศึกษา พัฒนาบุคลากร และจัดเตรียมเอกสาร ฯลฯ โดยมีแนวคิดว่า “จะให้เกียรติไอนุซึ่งเป็นชนพื้นเมือง และส่งเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไอนุทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ไปพร้อมๆ กับการสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมไอนุใหม่ๆ ขึ้น”

   นอกจากชนเผ่าไอนุแล้ว ชนพื้นเมืองจำนวนมากของแต่ละที่ทั่วโลกยังกำลังเผชิญกับประสบการณ์ในยุคสมัยอันขมขื่น ไม่ว่าจะเป็นการถูกช่วงชิงที่ดินและทรัพยากรอันเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตตามนโยบายของประเทศ และไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รวมถึงถูกแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม ฯลฯ กระบวนการดังกล่าวทำให้ไม่แปลกเลยที่วัฒนธรรมอันล้ำค่าของพวกเขาเหล่านั้นตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญหาย ทว่าแม้จะมีอุปสรรคเหล่านั้นเกิดขึ้น แต่ชนพื้นเมืองจำนวนมากก็ยังคงสืบสานวัฒนธรรมอย่างแน่วแน่ และสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเองเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานของพวกตน และชนเผ่าไอนุเองก็เป็นหนึ่งในชนเผ่าที่กล่าวมาเหล่านั้น ชนเผ่าไอนุก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชื่อ “พิพิธภัณฑ์ไอนุ” และเปิดให้บริการมายาวนานมากกว่า 30 ปีในชิราโออิแห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้ได้แนะนำวัฒนธรรมไอนุผ่านทางนิทรรศการและศิลปะการแสดง ทั้งยังแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชนพื้นเมืองของแต่ละพื้นที่ทั่วโลกผ่านทางวัฒนธรรมอีกด้วย กล่าวคือเป็นริเริ่มการทำกิจกรรมในรูปแบบการลงมือฟื้นฟูวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันกับชนเผ่าไว้

    “พิพิธภัณฑ์ไอนุ” นี้ปิดฉากประวัติศาสตร์ดังกล่าวลงในเดือนมีนาคม 2018 เพราะการก่อสร้างอุโปะโปย แต่อุโปะโปยและพิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติอันเป็นสถานที่ศูนย์กลางนั้นก็ยังจะสืบสานเจตนารมณ์เหล่านั้นต่อไปอย่างมั่นคง การฟื้นฟูวัฒนธรรม การสร้างสรรค์ และการอยู่ร่วมกันของชนเผ่าที่หลากหลายนั้นเป็นเหมือนล้อทั้งสองข้างของรถยนต์ การเสริมซึ่งกันและกันนั้นจะช่วยกระตุ้นสังคมโดยรวม พิพิธภัณฑ์แห่งชาติใหม่นี้จะดำเนินการในภารกิจที่มีชนเผ่าไอนุเป็นแกนหลักสำคัญ แล้วในขณะเดียวกันเราก็ต้องการมุ่งไปที่การช่วยกระตุ้นสังคมมนุษย์โดยรวมให้เกิดความคึกคักซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นแต่ยังมีผู้ที่เกิดในชนเผ่าหลากหลายทั่วโลกมารวมตัวกันทำให้เกิดเป็นจุดเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมไอนุ รวมถึงมีการเข้าร่วมเพื่อฟื้นฟูบูรณะและสร้างสรรค์เหล่านั้นครับ

   อุโปะโปยและพิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติเปิดแล้วเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2020 โดยล่าช้าไป 3 เดือนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกท่านยิ่งๆขึ้นไป

กรกฎาคม 2020

ชิโร ซาซากิ

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติ

แนวคิด

พิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติให้เกียรติไอนุที่เป็นชนพื้นเมืองของญี่ปุ่น รวมถึงส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ฯลฯ ของไอนุทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยเหลือในการสร้างสรรค์และพัฒนาวัฒนธรรมใหม่ๆ ของไอนุ

ความเป็นมาในการสร้างพิพิธภัณฑ์

ดูเกี่ยวกับความเป็นมาในการสร้างพิพิธภัณฑ์ไอนุแห่งชาติและอื่นๆ ได้ที่เว็บไซต์นี้ของหน่วยงานด้านวัฒนธรรม

เกี่ยวกับเครือข่ายของพิพิธภัณฑ์

สร้างระบบประสานงานและร่วมมือกับผู้ใช้และผู้สืบทอดวัฒนธรรมไอนุ พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันวิจัยของทั้งในและนอกฮอกไกโด ทั้งยังส่งเสริมการแชร์และเผยแพร่ข้อมูล เก็บรวบรวมเอกสารและร่วมมือกันวิจัย ฯลฯ และได้เตรียมการกู้ภัยและบูรณะทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ถูกภัยพิบัติโดยประสานงานกับพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่นในฮอกไกโด เป็นต้น

เกี่ยวกับการเขียนถอดเสียงและภาษาถิ่นของภาษาไอนุภายในอาคาร

กระดานหรือป้ายอธิบายภายในอาคารและห้องนิทรรศการจะมีเขียนเป็นภาษาไอนุ โดยภาษาไอนุจะแสดงอยู่บนสุดเป็นภาษาแรก

☆เกี่ยวกับการเขียนถอดเสียงภาษาไอนุ

ปัจจุบันนี้มีการเขียนถอดเสียงภาษาไอนุเป็นตัวอักษรโรมันจิและคาตาคานะ เนื่องจากภาษาไอนุไม่มีวิธีถอดเสียงที่ตรงกัน (วิธีการเขียนที่ถูกต้อง) ป้ายภายในอาคารจึงถอดเสียงด้วยอักษรคาตาคานะโดยอิงจากตำราเรียนภาษาไอนุ “อาโคร อิตัค” ที่แก้ไขและตีพิมพ์โดยสมาคมอุตาริแห่งฮอกไกโด (รัฐวิสาหกิจ) (ปัจจุบันเป็นสมาคมไอนุประจำฮอกไกโด (รัฐวิสาหกิจ))

☆เกี่ยวกับประโยคอธิบายและภาษาถิ่นของภาษาไอนุ

มีประโยคอธิบายภาษาไอนุที่เขียนโดยผู้สืบทอดภาษาไอนุจากพื้นที่ต่างๆ อยู่ภายในห้องนิทรรศการ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ต้องการจะอนุรักษ์ความหลากหลายของภาษาไอนุเอาไว้ จึงมีการเขียนภาษาไอนุตามภาษาถิ่นหรือวิธีการเขียนถอดเสียงของผู้เขียนแต่ละคน

PAGE TOP