นิทรรศการ

สถานที่ภายในอาคารชั้น 2

อิโคร โทงปุ
ห้องนิทรรศการพื้นฐาน/ชั้น 2

 

“นิทรรศการ 6 หัวข้อ” ในมุมมองของชนเผ่าไอนุ

ห้องนิทรรศการถาวรจัดแสดงเกี่ยวกับภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ในมุมมองของ “เรา” ชนเผ่าไอนุ แสดงข้อมูลของช่วงระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่ที่มนุษย์มาตั้งรกรากในฮอกไกโด เกาะซาฮาลิน หมู่เกาะคูริล และภูมิภาคโทโฮคุ เมื่อราว ๆ 3 หมื่นปีก่อน อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าไอนุ จนถึงปี ค.ศ. 2020 นอกจากนี้ สัญลักษณ์นำทางภายในอาคารและแผ่นป้ายคำอธิบายในห้องนิทรรศการเป็นผลงานจากความคิดและเขียนขึ้นโดยผู้คนที่สืบทอดภาษาไอนุในพื้นที่ต่าง ๆ โดยผู้เข้าชมสามารถใช้เครื่องบรรยายด้วยเสียง (มีบริการให้เช่า) และแอปพลิเคชันฟังภาษาไอนุเหล่านั้นได้ด้วยเช่นกัน

iaskeuk
นิทรรศการเบื้องต้น

เมื่อเดินผ่านพาโนรามิก ล็อบบี้ ที่สามารถเต็มอิ่มกับทัศนียภาพของทะเลสาบโปโรโตแล้วจะมาถึงพื้นที่จัดนิทรรศการเบื้องต้น ผู้เข้าชมจะได้พบกับชนเผ่าต่าง ๆ รอบโลก โดย “ชาวไอนุ” หนึ่งในชนเผ่าเหล่านั้นจะนำทางผู้เข้าชมสู่ห้องนิทรรศการ

aekirusi
ลานนิทรรศการ

หนึ่งในเสน่ห์ของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้คือโครงสร้างห้องจัดแสดงสไตล์ลานนิทรรศการที่ให้ผู้เข้าชมได้เดินชมอย่างอิสระจากจุดศูนย์กลางไปจนถึงพื้นที่โดยรอบ ลานนิทรรศการนี้ตั้งอยู่ตรงกลางห้องนิทรรศการถาวร จัดแสดงผลงานที่มีคุณค่าทางศิลปะในระดับสูงอันแสดงถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมไอนุ เพียงแค่ได้ชมก็จะเข้าใจภาพรวมของวัฒนธรรมไอนุและเข้าถึงศิลปะอันยอดเยี่ยม สำหรับผู้ที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม สามารถชมนิทรรศการในแต่ละหัวข้อที่จัดแสดงอยู่โดยรอบเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

itak
ภาษาของเรา

แนะนำภาษาและเรื่องราวของไอนุ ตลอดจนชื่อสถานที่และกิจกรรมในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จัดแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้เข้าชมได้รู้สึกใกล้ชิดกับภาษาไอนุอีกด้วย มีทั้งมุมนั่งฟังเรื่องราวภาษาไอนุที่ให้ความรู้สึกราวกับนั่งล้อมวงรอบเตาผิง ทั้งเนื้อหาจัดแสดงที่สามารถเรียนรู้โครงสร้างและการออกเสียงภาษาไอนุผ่านการเล่นเกม ตลอดจนวีดิทัศน์เกี่ยวกับชื่อสถานที่และบทสนทนาให้รับชม

inomi
โลกของเรา

แนะนำวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณอันเป็นแก่นสำคัญของวัฒนธรรมไอนุ แสดงกราฟิกอธิบายเกี่ยวกับโลกจิตวิญญาณไอนุที่เต็มไปด้วยโลกทัศน์แห่ง “รามัต” (วิญญาณ) ที่สถิตอยู่ในทุกสรรพสิ่ง เสาไม้สูง 6 เมตรซึ่งผูกเข้ากับตัวหมีในพิธีอิโยมันเตะของซาฮาลิน ตั้งอยู่สูงตระหง่านอย่างโดดเด่น นอกจากนี้ยังแนะนำเครื่องมือที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งวิธีใช้งานด้วย

urespa
วิถีชีวิตของเรา

แนะนำวัฒนธรรมการดำรงชีวิตโดยจัดแสดงเครื่องมือต่าง ๆ และสื่อวีดิทัศน์ พร้อมทั้งกล่าวถึงเครื่องแต่งกาย อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงดนตรี การร่ายรำ และการละเล่นของเด็กด้วย จัดแสดงเสื้อผ้า (ทำจากเปลือกไม้) ตั้งแต่ขั้นตอนการลอกเปลือกต้นเอล์มจีนมาทำเส้นด้าย รวมถึงจัดแสดงเครื่องทอที่ใช้งานจริง และเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามของผู้คนที่สืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้

upaskuma
ประวัติศาสตร์ของเรา

หยิบยกเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ชนเผ่าไอนุบอกเล่าและสืบทอดต่อกันมา ตลอดจนร่องรอยของชนเผ่าไอนุที่ชนเผ่าใกล้เคียงได้สงวนเอาไว้ เมื่อผู้เข้าชมมาเยือนมุมจัดแสดงนี้ ผนังส่วนบนของห้องจะแสดงลำดับเหตุการณ์พร้อมทั้งระบุปีและแผนที่ที่สอดคล้องกัน เพื่อแนะนำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชนเผ่าไอนุตามลำดับ

nepki
งานของเรา

ยกเรื่องราวเกี่ยวกับงานของชนเผ่าไอนุ ครึ่งแรกแนะนำเครื่องมือที่ใช้ในการล่าสัตว์ จับปลา ทำการเกษตร และเก็บวัตถุดิบ พร้อมทั้งกลไกของเครื่องมือดังกล่าว พร้อมด้วยมุมสำหรับค้นหางานที่ทำในช่วงต่าง ๆ ตลอดปี ครึ่งหลังแนะนำงานที่เริ่มทำตั้งแต่ยุคเมจิเป็นต้นมาและงานฝีมือต่าง ๆ เครื่องมือที่ใช้ในการทำงานและผลงานเหล่านี้จะช่วยแสดงภาพของชนเผ่าไอนุในยุคปัจจุบัน

“อิตาโอมาชิป (เรือเดินสมุทร) : ผลงานจัดเก็บในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การเดินเรือเมืองอักเกชิ”

ukoapkas
การแลกเปลี่ยนของเรา

แนะนำการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชนเผ่าไอนุกับชนเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรือเดินสมุทร (อิตาโอมาชิป) ที่ขุดพบในทะเลสาบอักเกชิ เกาะฮอกไกโด (ทรัพย์สินในความครอบครองของเมืองอักเกชิ) เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการจัดแสดงส่วนนี้ ซึ่งได้ผ่านการทำความสะอาดที่เมืองอักเกชิ จากนั้นส่งไปทำความสะอาดอย่างประณีตและเสริมความทนทานที่เมืองชิราโออิเพื่อนำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้

ikere usi
มุมสำหรับการเรียนรู้ เทมปาเทมปา

มุมสำหรับสัมผัสวัฒนธรรมไอนุผ่านประสบการณ์ด้วยตนเอง อุปกรณ์การเรียนรู้ 18 ชุดที่มีทั้งฉากจำลองสามมิติ (ไดโอรามา) โมเดลจำลอง ทามาไซ (สร้อยคอ) เกมปริศนาสามมิติรูปปลาแซลมอนและกวาง ฯลฯ พร้อมให้เพลิดเพลินทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยิ่งได้สัมผัสมุมสำหรับการเรียนรู้พร้อมกับนิทรรศการ 6 หัวข้อ ยิ่งจะช่วยให้ผู้เข้าชมทำความเข้าใจวัฒนธรรมไอนุได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (คำว่า “เทมปาเทมปา” เป็นภาษาไอนุ มีความหมายว่า “ลองสัมผัสดูสิ”)

PAGE TOP